สมาคมฯใคร่ขอให้ท่านได้โปรดเข้ามากรอกข้อมูลที่เป็นชื่อ จริง นามสกุลจริง รายละเอียดอื่นๆของท่าน เนื่องจาก สมาคมฯจะจัดทำบัตรสมาชิกใหม่ให้กับทุกท่านโดยเป็นระบบมาตรฐานและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีแถบแม่เหล็ก และจะใช้เป็นบัตร สะสมแต้มในการเข้าร่วมรายการต่างๆ กับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯทั้งเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ทันสมัยถูกต้องและสามารถติดต่อข้อมูลข่าวกับสมาชิกได้สะดวกรวดเร็ว ช่วงนี้สมาคมฯเปิดรับสม้ครสมาชิกใหม่ฟรีในระบบออนไลน์ ขอให้ท่านได้เข้าไปกรอกข้อมูลที่ คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ ด้านการปกครองท้องถิ่น

ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๘ พ.ย. ถึง วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธ.ค. ๒๕๕๗ ปีที่ ๖๒ ฉบับที่ ๑๑ หน้า ๘๐ คอลัม <เจาะเด็นร้อน อปท.>‪#‎ทีมข่าวภูมิภาค‬# : ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ ด้านการปกครองท้องถิ่น โดย
นายสรณะ เทพเนาว์
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ด้านการปกครองท้องถิ่น




กรอบแนวคิดในการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา ด้านการปกครองท้องถิ่น

คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 6 อำนาจหน้าที่ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น จำนวน 36 คน โดย ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานอนุกรรมาธิการฯ นายสรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปอนุกรรมาธิการ

บทความพิเศษ: ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญด้านการปกครองท้องถิ่น(ตอนที่ 2)
สยามรัฐ Issued date 27 November 2014
สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
ความตอนที่แล้วนำเสนอว่า "การกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น" เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น และได้กล่าวถึงภาพรวมปัญหาของการปกครองส่วนท้องถิ่นไทยในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 ความพยายามในการออกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจำนวน 6-7 ฉบับ และข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อเป็นกรอบการร่างรัฐธรรมนูญด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะการจัดความสัมพันธ์ของการกระจายอำนาจระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
มีประเด็นปัญหาที่ละเลยมิได้กล่าวถึงไว้ในรายงานการวิจัยใดๆซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สืบเนื่องติดตามมา อาทิ
(1) ประสิทธิภาพในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(2) ความพึงพอใจของประชาชนต่อการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3) ภารกิจอำนาจหน้าที่ที่มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติมีความเหมาะสม
(4) การทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(5) ประเด็นปัญหาใหม่ๆ ของท้องถิ่นในประเด็นปัญหาเหล่านี้ ในรายงานการศึกษาวิจัยในช่วงแรกมิได้กล่าวถึงนัก และเริ่มมีการกล่าวถึงกันมากขึ้นในระยะหลังๆแต่ก็ยังไม่ถือว่ามีการศึกษาวิจัยในด้านนี้
ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพและความพึงพอใจน่าจะรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ข้อมูลจากโครงการวิจัยการติดตามและประเมินผลการกระจายอำนาจของไทยระยะ 15 ปี (2557) คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริการของ อปท. อยู่ในระดับที่สูงผลศึกษาในเชิงลึกพบว่า
1.อปท.จัดบริการสาธารณะได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น หลากหลายมากขึ้นกว่าในยุคก่อนการกระจายอำนาจ และมีคุณภาพดีพอสมควร
2.บริการสาธารณะของ อปท.ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นของประชาชนระดับฐานราก
3.อปท.มีลักษณะการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆอย่างกว้างขวาง
4.อปท.มีการริเริ่มนวัตกรรมจำนวนมากพอสมควร คิดเป็นร้อยละ 60 และ
5.ประชาชนผู้รับบริการส่วนใหญ่พึงพอใจ อปท.ในหลายๆ ด้านตัวเลขเชิงสถิติที่พบในผลศึกษา เช่น ผลสอบโอเน็ตของนักเรียนในโรงเรียนที่ อปท.ดูแล กว่าร้อยละ 75 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงเรียนทั่วไปในจังหวัด ทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษา เป็นต้น จากข้อมูลยังมีความเชื่อว่า "ท้องถิ่น" ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะในการดำเนินตามนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ตั้งแต่ปี 2540 รัฐได้สนับสนุนทรัพยากรและบุคลากรให้แก่ อปท.เป็นจำนวนมากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ในราวปีละหลายแสนล้านบาท ผลการศึกษาในประเด็นการกระจายอำนาจที่ผ่านมาได้ผลลัพธ์อย่างไร ประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะเหตุใด? พบว่า การกระจายอำนาจก่อให้เกิดการจัดบริการของ อปท.ที่หลากหลายประเภท เช่น การศึกษาสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน บริการทางสังคม โครงสร้างพื้นฐาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การจัดระเบียบชุมชน และการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น
สำหรับผลการศึกษาในประเด็นความพึงพอใจและความไว้วางใจของประชาชน พบว่า ความพึงพอใจของประชาชนต่องานบริการของอปท.อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 75.0 เห็นว่าไม่ควรยุบเลิก อปท. เพราะอปท.มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และผลการศึกษาในประเด็นการกระจายอำนาจประสบผลสำเร็จหรือไม่?โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประสบความสำเร็จ "ในระดับปานกลาง" เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้านที่เหนี่ยวรั้งการกระจายอำนาจของไทยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อาทิ
(1) ข้อจำกัดในระดับนโยบายและการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจ เพราะนโยบายไม่ต่อเนื่อง ฝ่ายการเมืองระดับชาติพร้อมแทรกแซงการกระจายอำนาจตลอดเวลา เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างระบบอุปถัมภ์และประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจการเมือง
(1.1) กลไกขับเคลื่อนการกระจายอำนาจมีความอ่อนแอ หน่วยงานขับเคลื่อนขาดเอกภาพ ทำงานแยกส่วนแบบซ้ำซ้อน ทำงานตั้งรับไม่ผลักดันการกระจายอำนาจอย่างเข้มข้น ส่วนหน่วยงานราชการที่มีบทบาทเชิงสนับสนุนก็ขาดระบบงานรองรับงานด้านการกระจายอำนาจเป็นการเฉพาะ ส่วนราชการที่ถ่ายโอนภารกิจก็ไม่ต้องการกระจายอำนาจตีความกฎหมายตามแนวทางของตนเอง และสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ
(1.2) การถ่ายโอนภารกิจและบุคลากรขาดความสมดุลกัน ทำให้อทป.ขนาดเล็กมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน เพราะถ่ายโอนภารกิจมากกว่า อปท.ขนาดใหญ่ เช่น อบต.มีจำนวนงานหรือภารกิจที่ถ่ายโอน 173 ภารกิจ แต่มีจำนวนบุคลากรที่ถ่ายโอนให้ อปท.โดยเฉลี่ยเพียง 1.1 คนเป็นต้น
(2) ข้อจำกัดในเชิงกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ อปท. สืบเนื่องจากการถ่ายโอนอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ อปท.มีอำนาจหน้าที่จำกัด กฎหมายและการกำกับดูแลมีมากเกินความจำเป็น ไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ และบางครั้งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงาน เช่น กรอบรายจ่ายบุคคลร้อยละ 40 (กฎหมายกำหนดให้รายจ่ายประจำของ อปท. ประเภทเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา ห้ามเกินร้อยละ 40 ของรายได้) ส่งผลให้อปท.ไม่ต้องการจัดบริการเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกิจการด้านบริการที่ต้องใช้คน และการกำหนดกรอบรายจ่ายดังกล่าวไม่สะท้อนความเป็นจริงตามธรรมชาติของงานท้องถิ่น
นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นยังเห็นว่า ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น ให้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
แสดงว่าประสิทธิภาพของ อปท. น่าจะมีขีดความสามารถที่ดีในการจัดการบริการสาธารณะ แต่ผลการศึกษาวิจัยกลับตรงกันข้าม
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, (2545) ศึกษาว่า เพื่อประสิทธิภาพของอปท. ควรยุบรวมหน่วยองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีประชากรน้อยเข้าด้วยกัน (Amalgamation) โดยเฉพาะ อปท. ที่มีประชากรจำนวนน้อยๆ ในความเห็นของผู้เขียนอาจคำนึงถึงจำนวนประชากรเนื้อที่ สภาพพื้นที่ รายได้ ศักยภาพของ อปท. และเงื่อนไขอื่นๆ อปท.ควรมีจำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 คน (ในมิติจำนวนประชากรนี้ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยให้หมายรวมถึงบุคคลต่างด้าว และบุคคลสัญชาติอื่นๆ นอกจากสัญชาติไทยด้วย) นอกจากนี้ล่าสุดธนาคารโลก (2555) ได้เสนอว่า ขนาดของ อปท.ที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพคือ อปท. ที่มีประชากรจำนวนประมาณ 10,000 คนซึ่งทำให้ต้นทุนการบริหารงานในแต่ละหน่วยสูง และไม่มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน เนื่องจากทำให้การประสานงานระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นทำได้ค่อนข้างลำบาก
ในประเด็นเรื่องความเหมาะสมของอำนาจหน้าที่ปรากฏว่าภารกิจการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่น ไม่ประสบผลสำเร็จ มีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ แต่มิได้ถ่ายโอนงบประมาณและบุคคล เช่นการถ่ายโอนงานทางหลวงชนบท มีการถ่ายโอนจริง แต่ภายหลังกรมทางหลวงชนบทมิได้ถูกยุบ จึงได้ถ่ายโอนงานกลับคืนกรมทางหลวงชนบท หรือกรณีการถ่ายโอนสถานศึกษา เมื่อมีเสียงคัดค้านเป็นผลให้ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ให้ชะลอการถ่ายโอนสถานศึกษาไว้ก่อน รวมทั้งการถ่ายโอนการศึกษาระดับปฐมวัยให้แก่ อปท. ก็ยังมิได้มีการถ่ายโอนทั้งหมดจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือกรณีการถ่ายโอนสถานีอนามัย (9,661 แห่ง) ก็ไม่สามารถถ่ายโอนได้ จนกระทั่งกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเปลี่ยนยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ "โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)" หรือการถ่ายโอนระบบประปาชนบท กรมอนามัย การถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็มิได้ถ่ายโอนบุคลากรหรืองบประมาณให้ อปท. แต่อย่างใด
สรุปว่าการถ่ายโอนภารกิจที่เหมาะสมให้แก่ท้องถิ่นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าการขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่ อปท.ไม่สามารถดำเนินการเองได้ เช่นการขยายเขตไฟฟ้าประปา แม้แต่การศึกษาภาคบังคับ ซึ่งบางหน่วยงานได้รับเงินอุดหนุนจาก อปท. อย่างสม่ำเสมอในจำนวนงบประมาณที่ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งอยู่ในเขตการศึกษา หรือในอำเภอเดียวกัน อบจ. รับถ่ายโอนโรงเรียนมัธยมศึกษา (มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย) และเทศบาล, อบต.รับถ่ายโอนโรงเรียนประถมศึกษา หรือเทศบาลเดิมที่มีโรงเรียนในสังกัดระดับประถมศึกษาอยู่แล้ว (รวมขยายโอกาสทางการศึกษา คือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น) ในขณะเดียวกัน สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานก็มีโรงเรียนในสังกัดทั้งประถมศึกษา (รวมขยายโอกาสทางการศึกษา) และระดับมัธยมศึกษา (มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย) เช่นกัน โดยมิได้แบ่งแยกเขตหรือภารกิจใดๆ ทำให้เกิดการแข่งขันจัดการศึกษาซ้ำซ้อนกัน และในบางพื้นที่อาจมีปัญหาเกณฑ์จำนวนนักเรียนในบางโรงเรียนชั้นเรียนมีน้อย หากภารกิจเหล่านี้ อปท. สามารถดำเนินการได้เองตามอำนาจหน้าที่จะเป็นการตอบโจทย์แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ท่านใดมีประเด็นอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิรูปท้องถิ่นขอให้ส่งประเด็นความคิดเห็นต่อผู้เขียนในเฟซบุ๊ก "สรณะเทพเนาว์ สพท." ได้ตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ads.txt

google.com, pub-4865607100783107, DIRECT, f08c47fec0942fa0