สมาคมฯใคร่ขอให้ท่านได้โปรดเข้ามากรอกข้อมูลที่เป็นชื่อ จริง นามสกุลจริง รายละเอียดอื่นๆของท่าน เนื่องจาก สมาคมฯจะจัดทำบัตรสมาชิกใหม่ให้กับทุกท่านโดยเป็นระบบมาตรฐานและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีแถบแม่เหล็ก และจะใช้เป็นบัตร สะสมแต้มในการเข้าร่วมรายการต่างๆ กับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯทั้งเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ทันสมัยถูกต้องและสามารถติดต่อข้อมูลข่าวกับสมาชิกได้สะดวกรวดเร็ว ช่วงนี้สมาคมฯเปิดรับสม้ครสมาชิกใหม่ฟรีในระบบออนไลน์ ขอให้ท่านได้เข้าไปกรอกข้อมูลที่ คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลที่นี่

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บทความพิเศษ ทิศทางและแนวโน้มของการปฏิรูปท้องถิ่นตามกระแสโลก

ข่าวหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ และ
ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๒๒๔๕๒ หน้า ๑๐ คอลัมน์ <การเมืองท้องถิ่น> : บทความพิเศษ ทิศทางและแนวโน้มของการปฏิรูปท้องถิ่นตามกระแสโลก โดย สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
 — กับ Phachern Tham และ อบรมเว็บไซส์ ด้วยตัวคุณเอง
ทิศทางและแนวโน้มของการปฏิรูปท้องถิ่นตามกระแสโลก
สรณะ เทพเนาว์ , ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
นายกสมาคมพนักงานแห่งประเทศไทย
ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง
ต้องยอมรับว่าในท่ามกลาง “กระแสโลกาภิวัตน์” (Globalization) ปัจจุบัน หรือเรียกอีกอย่างว่า “การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Orders) ได้เข้ามามีบทบาทครอบงำต่อประชาคมโลกโดยทั่วไป เริ่มจากปี 1990 (พ.ศ. ๒๕๓๓) โดยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อผู้นำเสนอ ถึงปัจจุบันจับกระแสดังกล่าวในเรื่องสำคัญ คือ ๑. ประชาธิปไตย (Democracy) ๒. สิ่งแวดล้อม (Environment) ๓. สิทธิมนุษยชน (Human Rights) รวมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) และ ๔. การค้าเสรี (Free Trade) ที่มีขอบข่ายกว้างขวางรวมถึงเรื่องต่าง ๆ มากมาย อาทิเรื่อง ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (Copyright) ระบบเครือข่ายสารสนเทศ (Network Information & Technology) ฯลฯ เป็นต้น
ประเทศต่าง ๆ มีการรวมกลุ่มกันเป็นเขตเศรษฐกิจเสรี มีการพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2015 หรือปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ก็จะเกิด “ประชาคมอาเซียน” (ASEAN) ในทางเศรษฐกิจจะมีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ มีการเคลื่อนไหวทางการค้า การลงทุน แรงงาน ฯลฯ อย่างเสรี เหมือนดังเช่นสหภาพยุโรป (European Union : EU) ที่เกิดมานานแล้วก่อนปี 1993 ในรูปแบบชื่อ "ประชาคมยุโรป" (European Community : EC) จนกระทั่งในปี 2002 (พ.ศ. ๒๕๔๕) ได้พัฒนามาสู่รูปแบบชื่อ "สหภาพยุโรป" ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์มีการใช้นโยบายการเงินการคลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในกระแสโลกดังกล่าวจึงไม่อาจหยุดยั้งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ มีแต่จะขยายขอบข่ายกว้างขวางจนกระทั่งครอบคลุมโลกไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านการสื่อสารแบบถึงตัวทั่วถึงในรูปแบบของสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ (social online) ในมุมมองด้านเศรษฐกิจโลกในการ “ปฏิรูปประเทศไทย” หรือ “การออกแบบประเทศไทย” จึงจำเป็นต้องนำปัจจัยภายนอกดังกล่าวมาพิจารณาประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาประเทศสอดคล้องกับบริบทของสังคมโลก (social context) ในอนาคตดังกล่าว
จากการศึกษาวิจัยของ ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์กับพวก (๒๕๕๑) เห็นว่า จุดแข็งที่สำคัญในการแข่งขันระดับชาติของประเทศไทย อาทิ การมีโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่อยู่ในระดับค่อนข้างดี จุดอ่อนที่สำคัญ อาทิ การมีสถาบันที่อ่อนแอ (weakness in institutions) และความพร้อมในการรับเทคโนโลยี (technological readiness) จากต่างประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาทางนวัตกรรม (innovation development) ที่จะเป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต นอกจากนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส (๒๕๕๗) เสนอให้มีการตรา “พระราชบัญญัติปฏิรูปสังคม” ไว้เป็นกฎหมาย เพื่อทำให้สังคมเข้มแข็ง เพราะภาคสังคมไม่มีเครื่องมือเชิงสถาบันเลย
ฉะนั้น ในบริบทของการปฏิรูปประเทศไทยที่สอดคล้องกับสังคมโลก ที่ต้องสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติให้สูงขึ้นในระยะยาว จึงควรพิจารณาถึงแนวทางในการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น ดังนี้
(๑) รูปแบบโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมีลักษณะที่สังคมโลกยอมรับและยึดถือกันเป็น “สากล” แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ ฯลฯ
(๒) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่เขตเมือง เขตกึ่งเมืองกึ่งชนบท หรือเขตชนบท ย่อมมีแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างกัน ได้แก่ การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบ “เทศบาล” หรือในรูปแบบ “เศรษฐกิจพิเศษ” หรือในรูปแบบเงื่อนไขพิเศษอื่นใด เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA)
(๓) มีระบบการควบคุมตรวจสอบ อปท. ที่เป็นสากล รวมทั้งการควบคุมภายนอก และการควบคุมภายใน ควรมีประสิทธิภาพและโปร่งใส สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการบริการสาธารณะแก่ประชาชนเจ้าของพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การกำกับดูแลควรมีพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในรูปแบบของ “สภาพลเมือง” (assembly) หรือ “สมัชชา” (forum) หรือ “คณะกรรมการ” (commission) ในระดับชั้นต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ จนถึงคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ เป็นต้น มิใช่การควบคุมกำกับดูแลในรูปของบุคคล นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดังเช่นปัจจุบัน โดยมีการผสานความร่วมมือกันทั้งในเชิงประเด็น (issue based) และพื้นที่ (area based) เข้าด้วยกัน การแก้ไขจุดนี้ได้ก็จะเป็นการแก้ไขเรื่อง การมีสถาบันที่อ่อนแอลงได้
(๔) การเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human resource development) โดยเฉพาะการพัฒนาการด้านการศึกษาในทุกระดับ รวมทั้งในระดับพลเมือง “ประชาสังคม” เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มีจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และทัศนคติที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตระยะยาว ควรมีการแบ่งมอบภารกิจการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้เหมาะสมแก่ท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา (grass root)
(๕) สร้างกติกาวางกรอบลดเงื่อนไขการทุจริตคอร์รัปชั่น (corruption) ในทุกรูปแบบ ครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการบริการจัดการ รวมถึงครอบคลุมถึงการใช้วิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในท้องถิ่นโดยทั่วไปด้วย เพื่อการแข่งขันและการยอมรับ รวมถึงความเชื่อถือจากสังคมโลก
(๖) เพิ่มสถานะการคลังท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการจัดเก็บและเสียภาษีท้องถิ่นให้กว้างขวาง เพื่อสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการพัฒนา และหวงแหนท้องถิ่นของตนให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีการค้า ภาษีค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการที่ต้องควบคุมฯ เป็นต้น
(๗) การสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะในรูปของสินค้า ของที่ระลึก ที่มีเอกลักษณ์ย่านชุมชน งานฝีมือ ทักษะเฉพาะถิ่น รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย จนถึงระดับก้าวหน้าไปสู่ตลาดโลกได้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชีวิตของประชาชนชุมชนคนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ต้องมีการนำเสนอ ถกพูดคุยกันในเวทีสภาปฏิรูปแห่งชาติ และนำไปพิจารณาตราเป็นกฎหมายให้ครอบคลุมในทุกประเด็น ในทุกมิติ ให้สอดคล้องกับกระแสสังคมโลก ฉะนั้น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติก็คือ ความหวังในการกอบกู้วิกฤตสังคม และต้องมีหน้าที่ออกแบบประเทศไทยให้ดีที่สุด เนื่องจากมีสังคมและประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าที่เฝ้ามองจับตาเปี่ยมด้วยความหวัง
===========================
Phachern Tham ข้อ (๖) แก้ไขเป็น "สถานะการตลัง"...https://www.gotoknow.org/posts/578886

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย นายพนมไพร ปารมี กรรมการฝ่ายวิชการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย