สมาคมฯใคร่ขอให้ท่านได้โปรดเข้ามากรอกข้อมูลที่เป็นชื่อ จริง นามสกุลจริง รายละเอียดอื่นๆของท่าน เนื่องจาก สมาคมฯจะจัดทำบัตรสมาชิกใหม่ให้กับทุกท่านโดยเป็นระบบมาตรฐานและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีแถบแม่เหล็ก และจะใช้เป็นบัตร สะสมแต้มในการเข้าร่วมรายการต่างๆ กับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯทั้งเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ทันสมัยถูกต้องและสามารถติดต่อข้อมูลข่าวกับสมาชิกได้สะดวกรวดเร็ว ช่วงนี้สมาคมฯเปิดรับสม้ครสมาชิกใหม่ฟรีในระบบออนไลน์ ขอให้ท่านได้เข้าไปกรอกข้อมูลที่ คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลที่นี่

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คสช.รื้อใหญ่"ระบบราชการ" วิษณุเผยปรับโครงสร้าง-กฎระเบียบใหม่ คมนาคมชงตั้งกรมขนส่งทางราง


คสช.รื้อใหญ่"ระบบราชการ" วิษณุเผยปรับโครงสร้าง-กฎระเบียบใหม่ คมนาคมชงตั้งกรมขนส่งทางราง


แย้มตั้งกระทรวงน้ำ-กรมขนส่งทางราง จ่อยุบดีเอสไอ-แยกกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ด้านคมนาคมเตรียมส่งแผนตั้งกรม พร้อมปฏิรูปการรถไฟ ขณะที่ ทีดีอาร์แนะต้องเร่งดันกฎหมายบริการประชาชน
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เตรียมปรับโครงสร้างราชการครั้งใหญ่ พร้อมการปฏิรูปการเมือง โดยจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ อย่างเช่นกระทรวงน้ำ และกรมขนส่งทางราง เพื่อยุบรวมหน่วยงานที่ทับซ้อนกับเข้าอยู่ในหน่วยงานเดียว อีกทั้งจะมีการปรับปรุงการบริการประชาชนและการตรวจสอบการทำงานของหน่วยราชการ
การปฏิรูประบบราชการ เป็นเรื่องสำคัญในทุกรัฐบาล และมักจะถูกบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล แต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง ซึ่งหากคสช.มีนโยบายจะเร่งปฏิรูป ก็มีความเป็นไปได้จะสำเร็จมากกว่าก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีอำนาจเบ็ดเสร็จ
นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะที่เป็นประธานคณะทำงานปรับบทบาท ภารกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของส่วนราชการด้านสังคม กล่าวในรายการ "อาทิตย์สโมสรกับวิษณุ" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง TNN24 ตอน"สภาปฏิรูปจะปฏิรูปอะไรบ้าง" ว่า ช่วงนี้มีการพูดถึงการปฏิรูปด้านประเทศมากพอสมควร แต่ผู้เสนอแนวทางในการปฏิรูปคือสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นแกนหลัก โดยไม่ได้ตัดสิทธิของประชาชนในการออกความคิดความเห็นที่สามารถส่งไปตามช่องทางต่างๆ
"แต่คำถามคือจะปฏิรูปอะไรกัน เพราะเวลาพูดถึงความไม่พออกพอใจความเดือดร้อนจากกิจการของรัฐด้านต่างนั้นมีมากมายจนไม่รู้จะปฏิรูปเรื่องใดก่อน ในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 กำหนดให้มีการปฏิรูป11ด้านเป็นอย่างน้อย ซึ่งสามารถเสนอแนวทางปฏิรูปเรื่องอื่นด้านที่12 13 14 ก็สามารถทำได้ แต่ด้านที่จะมีการปฏิรูปการเมือง ที่จะรวมถึงเรื่องกฎเกณฑ์ กติกา มารยาททางการเมือง และการปฏิรูประบบราชการน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะถูกพูดถึงมากที่สุดนับจากนี้ไป"
นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการหมายถึงการปฏิรูปตำรวจ ฝ่ายปกครอง ศาล อัยการ หรือแม้แต่กิจการราชทัณฑ์ ทนายความและงานที่เกี่ยวกับการให้บริการภาครัฐ
"จากนี้ไปเราจะได้ยินเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างของระบบราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ วิธีทำงานของข้าราชการ ว่าทำอย่างไรให้คนที่ทำงานราชการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและบริการประชาชนอย่างอุทิศกายและใจ ทำราชการด้วยความรวดเร็วว่องไวให้ความสะดวกไว้เนื้อเชื่อใจแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการ รวมทั้งต้องพูดถึงเรื่องอัตรากำลังที่ไม่ให้ระบบราชการใหญ่โตเทอะทะ เต็มไปด้วยผู้คนมากมายหรือว่าทำงานทั้งวันได้พันห้าเดินไปเดินมาได้ห้าพันอย่างที่เพลงร้องประชดกัน ทำอย่างไรให้ข้าราชการมีค่าตอบแทนที่เพียงพอ " นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่ามีการพูดถึงเรื่องว่าน่าจะตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ เอาหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำทั้งหมดมาไว้ด้วยกัน เพราะบทเรียนมหาอุทกภัยที่ผ่านมาหน่วยงานน้ำยังกระจัดกระจายกันอยู่ หากนำมารวมกันแล้วบริหารจัดการให้ดีก็น่าจะได้ประโยชน์ มีการพูดกันว่าอาจจะมีการตั้งกรมขึ้นมาสักกรมหนึ่ง เช่น กรมขนส่งทางราง กิจการที่ไม่ได้ขนส่งทางบกแต่เป็นการขนส่งทางราง หมายถึงรถไฟรางเดี่ยว รางคู่ แม้กระทั่งรถไฟความเร็วสูง หรือรถราง รถไฟฟ้า รถลอยฟ้า รถใต้ดิน น่าจะมารวมกันที่กรมขนส่งทางราง โดยรัฐดูแลออกแบบวางมาตรฐาน ก่อสร้างดูเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเดินรถก็ให้เอกชนรับช่วงต่อ
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เจตนารมณ์ของการตั้งขึ้นไม่ได้คิดเลยว่าจะให้เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งที่2 ไม่เช่นนั้นก็จะซ้ำซ้อนกันหรือแย่งกันทำงาน แต่เขาออกแบบให้ทำ "คดีพิเศษ" ที่ตำรวจปกติจะรับมือได้ยาก ไม่ใช่คดีอาชญากรรมธรรมดาหรืออาชญากรรมตามท้องถนน(Street crime) เช่นอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาชญากรรมที่มีความสลับซับซ้อนมาก แต่เมื่ออยู่ไปหรืออยู่มากรมนี้มักจะเหมาเอาหลายคดีเข้ามาเป็นคดีพิเศษ จนกระทั่งไปถึงคดีที่ดูแสนจะธรรมดาก็ระดับเป็นคดีพิเศษเพื่อจะเอามาทำ
" คงต้องคิดกันเสียใหม่แล้วครับว่าตกลงกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งขึ้นมาเพื่อจะทำอะไรแน่ " นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวิษณุ กล่าวว่า ย้อนไป10 ปีที่ผ่านมาอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องนำมาไว้ในกระทรวงเดียวกัน แต่ตอนนี้คงต้องทบทวนแล้วว่าท่องเที่ยว และ กีฬา อยู่ในกระทรวงเดียวกันได้หรือไม่ เพราะในที่สุดข้าราชการในกระทรวงนี้ต้องแบ่งภาคความชำนาญยากมาก เพราะจะไปด้านการท่องเที่ยวหรือด้านกีฬากันแน่ เพราะด้านหนึ่งคือด้านของเศรษฐกิจอีกด้านเป็นเรื่องของนันทนาการ สุขภาพและอนามัย และความเข้มแข็งของคนในชาติ นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนกัน (อ่านรายละเอียดหน้า2)
คมนาคมส่งแผนพร้อมฟื้นฟูการรถไฟ
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าก.พ.ร.ได้เข้ามาหารือถึงการก่อตั้งกรมการขนส่งทางราง โดยก.พ.ร. เสนอข้อมูล เบื้องต้นว่ากระทรวงคมนาคมต้องมีความพร้อมด้านใดบ้างถึงจะ ก่อตั้งกรมขนส่งทางรางได้
ทั้งนี้การตั้งกรมการขนส่งทางรางจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังพิจารณาและจะส่งให้สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาร่วมกัน โดยจะเสนอให้แยกรฟท.เป็นผู้เดินรถ (Operator) ส่วนกรมฯเป็นผู้ดูแลกฎระเบียบ (Regulator) เพื่อดูแลมาตรฐานในทุกด้าน จากปัจจุบันที่รฟท. เป็นทั้งผู้เดินรถและผู้ดูแลกฎระเบียบ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน
"ยังไม่ได้พูดคุยกับรฟท. คงต้องนัดหารือกันต่อไป จะผลักดันเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 1 ปี ที่อยู่ในตำแหน่ง"
เผย'วิษณุ'สั่งก.พ.ร.ส่งแผน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการปรับบทบาทหน้าที่ ภารกิจ โครงสร้าง เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของส่วนราชการ โดยสั่งก.พ.ร.นำผลการศึกษาการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ รวมทั้งการตั้งหรือยุบหน่วยงานราชการใหม่ที่ได้มีการศึกษาความเหมาะสม ก่อนจะเสนอให้กับหัวหน้าคสช.พิจารณา
"ขณะนี้ก็ต้องขึ้นกับการตัดสินใจของ คสช.ว่าจะดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างไร"
หากจะมีการตั้งกระทรวงหรือหน่วยงานใหม่ ก็จะต้องมีการออกเป็นกฎหมายคือเป็น พ.ร.บ.โดยจะมีการขอความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งก.พ.ร.ซึ่งเป็นผู้ศึกษาก่อนที่จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) จากนั้นผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
เผยหลายกรมยุบรวมกระทรวงน้ำ
สำหรับการจัดตั้งหน่วยราชการใหม่ เช่น กระทรวงทรัพยากรน้ำ แหล่งข่าวกล่าวว่าเป็นสิ่งที่มีการนำเสนอและมีการศึกษาความเหมาะสมมาเป็นระยะเวลานานเนื่องจากในปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำของประเทศยังไม่มีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน
“ต้องยอมรับว่าในการทำงานของหน่วยงานราชการบางหน่วยงานก็มีลักษณะงานที่คล้ายคลึงและทับซ้อนกัน แต่หากให้มีการเปลี่ยนแปลง ยุบเลิก หรือโอนย้ายส่วนใหญ่ก็ไม่อยากดำเนินการเพราะแต่ละกระทรวงก็มีกำลังคนมีงบประมาณของตัวเอง เรื่องนี้จึงต้องเป็นฝ่ายนโยบายสั่งการซึ่งต้องรอดูว่าทิศทางเป็นอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ โครงสร้างของกระทรวงทรัพยากรน้ำที่ ก.พ.ร.ศึกษาไว้แบ่งงานออกเป็น 5 ส่วนหลักๆคือ งานด้านนโยบาย การจัดหาน้ำปัจจัยพื้นฐาน การจัดการลุ่มน้ำปัจจัยการผลิต การจัดสรรบริหารน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม และการจัดการน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม และจัดการน้ำเสีย
สำหรับหน่วยงาน ที่อาจต้องยุบรวม คือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร นอกจากนั้นยังมีรัฐวิสาหกิจของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมที่จะต้องโอนย้ายมา ได้แก่ สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมการขนส่งทางน้ำ เป็นต้น
ทีดีอาร์ไอเสนอเร่งดันกม.บริการประชาชน
ด้านนายอิสรกุล อุณหเกตุ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าจากการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบมาตั้งแต่ปี 2555 รวมทั้งเป็นหนี่งในกฎหมายที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และ7 องค์กรภาคธุรกิจ เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งรัดการบังคับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดขั้นตอน ระยะเวลาและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
เขากล่าวต่อไปว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเป้าหมายที่ต้องการปรับปรุงการขออนุญาตภาครัฐทั้งในส่วนของการประกอบธุรกิจและการขออนุญาตต่างๆที่ประชาชนต้องขอจากภาครัฐโดยเน้นปรับปรุงในสองส่วนคือ 1.การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ 2.การเพิ่มความโปร่งใสและเพิ่มความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ ก.พ.ร. รายงานต่อ ครม.พร้อมทั้งเสนอแนะการพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการ ในกรณีที่ผู้อนุญาตดำเนินการพิจารณาอนุญาตล่าช้ากว่าที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชนเกินสมควร หรือล่าช้าเพราะขาดประสิทธิภาพ และควรปรับเปลี่ยนให้ ก.พ.ร. ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตของทุกหน่วยงานอยู่แล้วเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย โดยรับฟังความเห็นจากหน่วยงานผู้อนุญาตและผู้มีส่วนได้เสียประกอบการพิจารณา
“แม้ว่าการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ แต่กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมกิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจ หากมีการกำกับควบคุมโดยใช้กฎหมายและกฎระเบียบมากเกินไป (overregulation) ก็ย่อมสร้างภาระต้นทุนแก่สังคม และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย นายพนมไพร ปารมี กรรมการฝ่ายวิชการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย