สมาคมฯใคร่ขอให้ท่านได้โปรดเข้ามากรอกข้อมูลที่เป็นชื่อ จริง นามสกุลจริง รายละเอียดอื่นๆของท่าน เนื่องจาก สมาคมฯจะจัดทำบัตรสมาชิกใหม่ให้กับทุกท่านโดยเป็นระบบมาตรฐานและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีแถบแม่เหล็ก และจะใช้เป็นบัตร สะสมแต้มในการเข้าร่วมรายการต่างๆ กับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯทั้งเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ทันสมัยถูกต้องและสามารถติดต่อข้อมูลข่าวกับสมาชิกได้สะดวกรวดเร็ว ช่วงนี้สมาคมฯเปิดรับสม้ครสมาชิกใหม่ฟรีในระบบออนไลน์ ขอให้ท่านได้เข้าไปกรอกข้อมูลที่ คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลที่นี่

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ขอเรียนเชิญประชุมสัมนา เรื่อง “ยุทธศาสตร์ การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่”

ลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรมออนไลน์

โครงการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๘
สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย และสัมมนาเชิงวิชาการ
เรื่อง ยุทธศาสตร์ การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่

หลักการและเหตุผล
                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการจัดทำหรือปรับกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน และกฎหมายอื่นตามหมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แล้วเสร็จภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่ปรากฏว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นให้แล้วเสร็จตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้ จนกระทั่งมีการเข้าควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ฯ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางที่ คสช. กำหนด
                   ในท่ามกลาง กระแสโลกาภิวัตน์” (Globalization) ปัจจุบัน หรือเรียกว่า การจัดระเบียบโลกใหม่” (New World Orders) รวมทั้งการเปิดเสรีของประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี ๒๕๕๘ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อประชาคมโลกโดยทั่วไป ประกอบกับกระแสการปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้กำหนดกรอบการปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองไว้รวม ๑๑ ด้าน นั้น มีความเกี่ยวข้องกับ ท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยจำนวนข้าราชการ ลูกจ้างส่วนท้องถิ่นจำนวนกว่าสามแสนคน รวมบุคลากรฝ่ายการเมืองท้องถิ่นจะมีจำนวนบุคลากรถึง ๑.๕ ล้านคน อันมีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะด้าน การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นเพราะบุคลากรส่วนท้องถิ่นมีเครือข่ายที่กระจายครอบคลุมอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ อยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศและปฏิรูปประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจท้องถิ่นน้อยมาก    ทำให้การผลักดันร่างกฎหมายหลักต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งมีการเข้าควบคุมอำนาจ   โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้แก่
                   (๑) ร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายท้องถิ่น พ.ศ. ...
                   (๒) ร่างพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ...
                   (๓) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และ
                   (๔) ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการท้องถิ่น พ.ศ. ...
สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย มีความพยายามผลักดันกฎหมายหลักทั้ง ๔ มาอย่างต่อเนื่อง ตามเอกสารหนังสืออ้างอิงเป็นลำดับ ดังนี้
                   (๑) หนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ ๐๐๐๑/๙๖๒๗ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓
                   (๒) หนังสือสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยที่ ส.พ.ท. ๕๓/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนพิจารณาเลื่อนระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๖ ฉบับ) (กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
                   (๓) หนังสือสภาผู้แทนราษฎรเลขที่ สผ ๐๐๑(๒)/๑๑๐ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง แจ้งความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                   (๔) หนังสือวุฒิสภาเลขที่ สว ๐๐๐๑/ พิเศษ ๔๗ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ เรื่อง พิจารณาเสนอร่างกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (๔ ฉบับ)
                   (๕) หนังสือสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ส.พ.ท. ๐๐๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ผลักดันกฎหมายท้องถิ่นให้มีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐     (กราบเรียน ประธานวุฒิสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย)
                   (๖) หนังสือสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ส.พ.ท. ๐๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเป็นกรณีเร่งด่วน (กราบเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
                   ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนกฎหมายของ อปท. ให้เป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนงบประมาณของ อปท. ทั่วประเทศในการบริหารงานเพื่อพัฒนาองค์กรและบุคลากร เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในชุมชนและท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรของ อปท. สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจ และการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลกระทบต่อประโยชน์สวัสดิการของพนักงานเทศบาล จึงได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๘ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยและสัมมนาเชิงวิชาการขึ้นในหัวข้อ ยุทธศาสตร์ การปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอย่างมีพลัง เพื่อให้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป
วัตถุประสงค์
                   ๑. เพื่อทราบยุทธศาสตร์พัฒนาแนวทางการปฏิรูปประเทศโดยภาพรวม
                   ๒. เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
                   ๓. เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการปฏิรูปประเทศใน ๑๑ ด้าน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗
                   ๔. เพื่อรับทราบนโยบายจากรัฐบาลและส่วนราชการต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน ๕ ด้านคือ (๑) ด้านกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น (๒) ด้านจัดระบบโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ อปท. (๓) ด้านการกำกับดูแลตรวจสอบและการมีส่วนร่วมท้องถิ่น (๔) ด้านการปฏิรูปการเงินการคลังท้องถิ่น และ (๕) ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น
                   ๕. เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้รับทราบทิศทางแนวทางใหม่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น อาทิเช่น งานบุคคลท้องถิ่นและทิศทางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นปี ๒๕๕๘, ความก้าวหน้าของระบบแท่ง, เตรียมการรับสถานการณ์เข้าสู่ระบบแท่งเงินเดือน ทิศทางแนวโน้มยกเลิกระบบซีเข้าสู่ระบบการจำแนกตำแหน่ง(ระบบแท่ง), โบนัสรูปแบบใหม่, การแก้ไขปัญหาเงินงบประมาณเกินร้อยละ ๔๐, แนวทางกำหนดบัญชีเงินเดือนใหม่ของข้าราชการท้องถิ่น, ค่าตอบแทนประจำ ตำแหน่ง หัวหน้าส่วนราชการ, ค่าตอบแทน ผู้ปฏิบัติงานในสายวิชาชีพต่างๆ การปรับปรุงสายงาน และมาตรฐานตำแหน่ง ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ, องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯลฯเป็นต้น
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน ๑,๐๐๐ คน ประกอบด้วย
                   ๑. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกเทศมนตรี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขานุการนายกเทศมนตรี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการส่วนจังหวัด พนักงานเทศบาล พนักงานเมืองพัทยา พนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                   ๒. นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
ขั้นตอนการดำเนินการ
                   ๑. จัดการประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมการและจัดทำรายละเอียดโครงการสัมมนาเชิง                ปฏิบัติการ
                   ๒. ประสานงานวิทยากรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการขออนุมัติตามขั้นตอน
                   ๓. แจ้งเชิญผู้เข้าร่วมประชุม และลงทะเบียนผู้เข้าร่วมสัมมนา
                   ๔. ดำเนินงานจัดการประชุมและสัมมนาตามแผนที่กำหนด

ระยะเวลาดำเนินการ
                   ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘
สถานที่จัดประชุม
                   ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
งบประมาณ
                   ค่าลงทะเบียนจากผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา รวม ๓ วัน ๆ ละ ๖๐๐ บาท คนละ ๑,๘๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประชุมสัมมนา เช่น ค่าเอกสารประกอบการประชุมสัมมนา ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าอาหาร อาหารว่าง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินการจัดประชุมและสัมมนา
หน่วยงานรับผิดชอบ
                   ๑. สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
                   ๒. สำนักงานเทศบาลตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 
                   ๓. สำนักงานเทศบาลตำบลสามแวง อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์
หน่วยงานสนับสนุนการจัดงาน
                   ๑. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
                   ๒. คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นสภาปฏิรูปแห่งชาติ
                   ๓. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
                   ๔. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล กระทรวงมหาดไทย
                   ๕. กรมคุ้มครองสิทธิและสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
                   ๖.สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น                             สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
                   ๗. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
                   ๘.สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี
                   ๙. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
                   ๑๐.สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
                   ๑๑.ชมรมนักบริหารงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
                   ๑๒.ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย 
                   ๑๓. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ประโยชน์ที่คาดจะได้รับ
                   ๑. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบยุทธศาสตร์พัฒนาแนวทางการปฏิรูปประเทศโดยภาพรวม
                   ๒. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
                   ๓. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบถึงกระบวนการปฏิรูปประเทศใน ๑๑ ด้าน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗
                   ๔. ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบนโยบายจากรัฐบาลและส่วนราชการต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน ๕ ด้านคือ (๑) ด้านกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น   (๒) ด้านจัดระบบโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของ อปท. (๓) ด้านการกำกับดูแลตรวจสอบและการมีส่วนร่วมท้องถิ่น (๔) ด้านการปฏิรูปการเงินการคลังท้องถิ่น และ (๕) ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น
                   ๕. ผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยเฉพาะบุคคลากรส่วนท้องถิ่นได้รับทราบทิศทางแนวทางใหม่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น อาทิเช่น งานบุคคลท้องถิ่นและทิศทางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นปี ๒๕๕๘, ความก้าวหน้าของระบบแท่ง, เตรียมการรับสถานการณ์เข้าสู่ระบบแท่งเงินเดือน ทิศทางแนวโน้มยกเลิกระบบซีเข้าสู่ระบบการจำแนกตำแหน่ง(ระบบแท่ง), โบนัสรูปแบบใหม่, การแก้ไขปัญหาเงินงบประมาณเกินร้อยละ ๔๐, แนวทางกำหนดบัญชีเงินเดือนใหม่ของข้าราชการท้องถิ่น, ค่าตอบแทนประจำ ตำแหน่ง หัวหน้าส่วนราชการ, ค่าตอบแทน ผู้ปฏิบัติงานในสายวิชาชีพต่างๆ การปรับปรุงสายงาน และมาตรฐานตำแหน่ง ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ, องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯลฯเป็นต้น
                                       (ลงชื่อ)                                          ผู้เสนอโครงการ
                       
          (นายสมชาย สีวะรมย์)
          ปลัดเทศบาลเมืองหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
          เลขาธิการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย
                                     
                                      (ลงชื่อ)                                      ผู้อนุมัติโครงการ
                   
          (นายสรณะ เทพเนาว์)
          ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
          นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

          สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

ลงทะเบียนเข้าร่วมการอบรมออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ads.txt

google.com, pub-4865607100783107, DIRECT, f08c47fec0942fa0