1.ทำไมต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีจากที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างในรูปภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว
ตอบ เนื่องจาก ภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันมีปัญหา
ซึ่งสรุปได้ดังนี้
(1) ปัญหาของภาษีบำรุงท้องที่
1) ฐานราคาที่ดินไม่เป็นปัจจุบัน กล่าวคือ ใช้ราคาปานกลางของที่ดินในปี 2521-2524 ในการจัดเก็บภาษี ทำให้มูลค่าฐานภาษีต่ำเกินไป
2) มีการสะสมที่ดินเพื่อทำกำไร การใช้ฐานราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 ส่งผลให้
มีภาระภาษีที่ต้องชำระน้อยมาก ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถถือครองที่ดินจำนวนมากเพื่อทำกำไร
3) มีการลดหย่อนที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเอง ตั้งแต่ 50 ตารางวา ถึง 5 ไร่ ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับการลดหย่อนที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนไม่ต้องเสียภาษี
4) ท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีนี้น้อยมาก เนื่องจากใช้ฐานราคาที่ดินต่ำมาก และเจ้าของ
ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ได้รับลดหย่อนพื้นที่ที่ดินจนไม่ต้องเสียภาษี
(2) ปัญหาของภาษีโรงเรือนและที่ดิน
1) ฐานภาษีไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีไม่มีค่าเช่าหรือหาค่าเช่าไม่ได้ เช่น เจ้าของดำเนินการเอง เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการประเมินค่ารายปี
2) อัตราภาษีสูงเกินไป ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่าเช่าต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้มีการหลบเลี่ยงภาษี
3)ฐานภาษีแคบ เนื่องจากยกเว้นภาษีให้แก่โรงเรือนที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยและ
โรงเรือนปิดว่าง ซึ่งทำให้มีผู้เข้าสู่ระบบภาษีประมาณร้อยละ 50 ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
และเป็นผลทำให้ท้องถิ่นมีเงินไม่เพียงพอแก่การใช้จ่าย
4) มีการยกเว้นบ้านอยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ยกเว้นภาษีสำหรับโรงเรือนซึ่งเจ้าของ
อยู่อาศัยเองโดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของบ้านและที่ดินที่แตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม
ในการยกเว้นทรัพย์สินระหว่างผู้ที่มีฐานะแตกต่างกันมาก
5) ไม่เป็นธรรมต่อผู้เช่าโรงเรือนอยู่อาศัย ผู้เช่าโรงเรือนอยู่อาศัยมักจะถูกผลักภาระภาษี
ตามสัญญาเช่าโรงเรือนอยู่อาศัยในขณะที่เจ้าของโรงเรือนบ้านอยู่อาศัยกลับได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
6) ขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินควรใช้ฐานมูลค่าทรัพย์สินในการเรียกเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีโดยผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ การใช้ฐานค่าเช่ารายปีขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีเฉพาะทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้เท่านั้น
2. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร
ตอบ 2.1 เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี โดยที่
- ฐานภาษีมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดเก็บจากที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
ทุกประเภท ทั้งที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ที่ดินเกษตรกรรม โรงเรือนปิดว่าง ห้องชุด โรงเรือน
เพื่อใช้ประกอบกิจการต่างๆ เพื่อให้เจ้าของภาษีทุกรายมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตน ตามหลักการได้รับประโยชน์จากการบริการของท้องถิ่น (Benefit Principle) และหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay Principle) ซึ่งผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าต่ำ
- แก้ไขปัญหาการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในการประเมินค่ารายปีของภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่มีค่าเช่า เนื่องจาก เจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง แต่การประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีความชัดเจนแน่นอนกว่า เพราะใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ซึ่งกำหนดโดยคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ลดการพึ่งพาจากรัฐบาล และเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด
2.3 ลดการกักตุนที่ดินเพื่อการเก็งกำไรและผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสำหรับที่ดินที่มิได้ใช้ประโยชน์ตามควรหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า
2.4 สร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีความสนใจ และมีส่วนร่วมมากขึ้นกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในส่วนของการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง การจัดทำงบประมาณ การตรวจสอบ และการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น
3. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการลงโทษคนจน ผู้มีบ้านอยู่อาศัยหรือที่ดิน เกษตรกรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจภาคเอกชนใช่หรือไม่
ตอบ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย
และเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินทำกินที่มีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดใน
พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ อัตราภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจจะสูงกว่าอัตราที่จัดเก็บจากการใช้ที่ดินเพื่อ
การอยู่อาศัย และที่ดินเพื่อใช้เพื่อการเกษตรกรรม
4.ผู้เสียภาษีที่มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองจะแบกภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด ใช่หรือไม่
ตอบ ผู้เสียภาษีที่มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองไม่ได้เป็นผู้แบกภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด เนื่องจาก การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยึดตามหลักความสามารถในการเสียภาษีของเจ้าของ
ซึ่งเจ้าของที่ดินว่างเปล่าเพื่อการเก็งกำไรจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าที่ดินประเภทอื่น รองลงมาคือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ และเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการกสิกรรมซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตราลดหลั่นกันไป
5.รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเนื่องจากมีรายได้จากการจัดเก็บ ภาษีประเภทอื่นไม่เพียงพอใช่หรือไม่
ตอบ รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในเขตท้องถิ่นใด เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ต่อไปโดยไม่ต้องนำส่งรัฐบาล
6.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่หรือไม่
ตอบ เมื่อมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือน
และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ จึงไม่เป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
7.กฎหมายภาษีที่ดินฯ ได้ให้ความหมายของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้อย่างไร
ตอบ “ที่ดิน” หมายถึง พื้นที่ดิน รวมทั้งพื้นที่ภูเขาและพื้นที่ที่มีน้ำด้วย
“สิ่งปลูกสร้าง” หมายถึง โรงเรือน อาคาร ตึก รวมทั้งคลังสินค้า และแพที่บุคคลอาจจะเข้าอยู่หรือ
ใช้สอยได้ รวมทั้งสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย
8.ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมายถึงใครบ้าง
ตอบ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้แก่
8.1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
8.2 ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ
โดยที่ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน เป็นต้น
ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ
ได้แก่
1) ผู้ที่ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐที่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น
ที่ดิน สปก. และที่ราชพัสดุ เป็นต้น
2) ผู้ที่ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น
ที่ดินในเขตป่าสงวนและมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว
เป็นต้น
9.เหตุใดจึงต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าของทรัพย์สินที่อยู่อาศัยเองหรือโรงเรือนปิดว่างที่มิได้ประกอบกิจการใดๆ
ตอบ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโรงเรือนอยู่อาศัยเองหรือโรงเรือนปิดว่าง
มีเหตุผลดังนี้
(1) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากฐานมูลค่าของทรัพย์สินซึ่งเป็น
การจัดเก็บจากความมั่งคั่ง (Wealthy) ของเจ้าของทรัพย์สิน โดยผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่ามาก
จะเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าน้อย ซึ่งในต่างประเทศก็ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติสากลในการจัดเก็บภาษีประเภทนี้กับที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนปิดว่าง
(2) การดำรงอยู่ของทรัพย์สินก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การทำถนน การทำท่อระบายน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น เจ้าของทรัพย์สินทุกคนที่ได้รับบริการสาธารณะของท้องถิ่นจึงมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
10.ทรัพย์สินประเภทใดไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ตอบ ทรัพย์สินที่ไม่ได้จัดเก็บภาษี ได้แก่
(1) ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
(2) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มิได้หาประโยชน์
(3) ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์
(4) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนาญพิเศษ
ขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพัน
ที่ต้องยกเว้นภาษี
(5) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูต หรือสถานกงสุลของต่างประเทศ
(6) ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
(7) ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจ
หรือกิจการสาธารณะหรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวงไม่ว่าใน
ศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า ทั้งนี้เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
(8) ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะ หรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
(9) ทรัพย์สินของเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ เฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการหรือประชาชน
ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น
(10) ทรัพย์สินตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
11.ฐานภาษีมีหลักเกณฑ์การประเมินอย่างไร
ตอบ หลักเกณฑ์การประเมินฐานภาษีมีดังต่อไปนี้
1)
กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นฐานภาษี
2)
กรณีที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรวมกับราคาประเมิน
ทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างเป็นฐานภาษี
3)
กรณีห้องชุดให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเป็นฐานภาษี
ทั้งนี้ให้หักค่าบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1) สิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี จนถึง 10 ปี ให้หักค่าบำรุงรักษาแต่ละปีในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ตามอายุของสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดนั้น
2) สิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ให้หักค่าบำรุงรักษาร้อยละ 10
เมื่อคำนวณราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดทั้งหมดที่ถือครองอยู่
ในกรณีของทรัพย์สินที่ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำการเกษตรหากมีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาก็ให้ได้รับการยกเว้นภาษี
12.ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีตามกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมายรวมถึงสิ่งใด
ตอบ ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คิดจากราคาประเมินทุนทรัพย์
(เช่น ที่ดินและตัวบ้าน) รวมกับมูลค่าทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น (เช่น รั้ว และถนนภายในบ้าน) ทั้งนี้โดยไม่รวมเครื่องจักรที่ติดตั้งเป็นส่วนควบกับที่ดิน
13.มีการกำหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างไร
ตอบ คณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกำหนดอัตราภาษีไว้ 3 อัตรา ตามประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้
(1) อัตราภาษีทั่วไปสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี
(2) อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่อยู่อาศัยของตน โดยไม่ประกอบ
เชิงพาณิชย์ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี
(3) อัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี
สำหรับ ที่ดินว่างเปล่า มิได้ทำประโยชน์ตามสมควร จะจัดเก็บในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า
อัตราภาษีทั่วไป ซึ่งใช้สำหรับเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเพื่อเป็นการผลักดัน ให้มีการทำประโยชน์ในที่ดิน และลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร
14.ทำไมต้องกำหนดอัตราภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5และอัตราภาษีเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกินร้อยละ 0.1 และประกอบเกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05
ตอบ เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมของผู้เสียภาษี โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม จะมีผลตอบแทนจากทรัพย์สินในอัตราที่สูงกว่าที่อยู่อาศัย จึงกำหนดอัตราภาษีที่สูงกว่า
15.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน หรือการใช้ที่ดิน ที่ไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ตอบ ตามร่างกฎหมายได้มีการกำหนดอัตราภาษีสำหรับที่ดินว่างเปล่า ที่มิได้ทำประโยชน์ตามสมควรให้เสียภาษีในอัตราที่สูงมากกว่าที่ดินประเภทอื่น และกำหนดให้จัดเก็บเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 หากยังมิได้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น
16.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ให้อิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดอัตราภาษีเองหรือไม่
ตอบ ตามพรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตน โดยกำหนดอัตราภาษีสูงกว่าอัตราภาษีที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีกำหนดได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
17.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมายถึงเขตปกครองส่วนท้องถิ่นใดบ้าง
ตอบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
18.เหตุใดจึงกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดแต่ไม่ให้ลดอัตราภาษีต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการฯ กำหนด
ตอบ การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดแต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีนั้น เป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อนำเงินไปจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมจากโครงการปกติ ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถเสนอสภาท้องถิ่นให้ออกข้อบัญญัติจัดเก็บภาษีในอดีตที่สูงกว่าที่คณะกรรมการฯกำหนดได้แต่ไม่เกินเพดานอัตราที่กำหนดในกฏหมาย
ส่วนกรณีที่ไม่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติกำหนดลดอัตราภาษีจากที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนด เนื่องจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะกำหนดอัตราภาษีต่ำเกินไปเพื่อมิให้กระทบฐานเสียงทางการเมืองโดยหวังพึ่งพารายได้จากภาษีที่รัฐบาลแบ่งให้หรือจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
19.คณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วยใครบ้าง และมีอำนาจหน้าที่อย่างไร
ตอบ คณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วย
(1)ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
(2) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
(3) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
(4) อธิบดีกรมที่ดิน
(5) อธิบดีกรมธนารักษ์
(6) อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
(7) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(8) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ การกระจายอำนาจให้แก่ อปท.
(9) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(10) นายกเมืองพัทยา
(11) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่ง แต่งตั้งไม่เกิน 3 คน
(12) ผู้แทนนายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.
(13) เจ้าหน้าที่ สศค. เป็นกรรมการและเลขานุการและกรรมการและผู้ช่วยเลขาฯ
โดยมีอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
(1) กำหนดอัตราภาษีในทุกรอบระยะเวลา 4 ปี
(2) พิจารณากำหนดประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
(3) เสนอแนะการลดอัตราภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภท
(4) ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย สภาพปัญหาและอุปสรรค เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมาย
และปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป
20.จะมีการกำหนดเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับกรณีของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการขาย และที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างไร
ตอบ
20.1 กรณีทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขาย และไม่ได้ประกอบการพาณิชย์ (ทิ้งว่างไว้) ปัจจุบัน
ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว แต่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เปิดช่องให้
ลดอัตราภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภทเพิ่มเติมโดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกาได้
(มาตรา 24 วรรค 2)
20.2 กรณีของที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว แต่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้เสียภาษีในอัตราภาษีทั่วไป (ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของราคาประเมิน) อย่างไรก็ตาม อาจนิยามความหมายของที่ดินว่างเปล่ามิได้ทำประโยชน์ไม่ให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อมิให้ต้องเสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของราคาประเมิน หากไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดิน
21.หากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ควรยกเลิกการเก็บภาษีประเภทอื่น เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิและนิติกรรมจากการขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
ตอบ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการจัดเก็บภาษีการถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตน
ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิและนิติกรรมจากการขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
รวมถึงภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการจัดเก็บในส่วนของการโอนเปลี่ยนมือทรัพย์สิน
อันเกิดจากทรัพย์สินมีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนบริการสาธารณะของภาครัฐ (Windfall Benefit)
ดังนั้น การจัดเก็บภาษีทั้งสองประเภทจึงไม่ซ้ำซ้อนกัน
22.ทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสถาบันการเงินจะต้องเสียภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ อย่างไร
ตอบ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินซึ่งในกรณีนี้ คือ สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบัน NPA
ก็ถูกจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว แต่ตามกฎหมายภาษีที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างอาจพิจารณายกเว้นประเภททรัพย์สินเพิ่มเติม (มาตรา 5 (10)) หรือลดหย่อนประเภท
ทรัพย์สินเพิ่มเติม (มาตรา 24 วรรค 2) โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกาได้
23.ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับผู้มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อยู่ในหมู่บ้านซึ่งเสียค่าส่วนกลางบำรุงหมู่บ้านอยู่แล้วหรือไม่
ตอบ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินซึ่งในกรณีนี้ คือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เนื่องจากทรัพย์สินในหมู่บ้านยังได้รับบริการสาธารณะจากท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ เช่น ถนนสาธารณะ
ไฟฟ้าส่องสว่าง ทางเท้า ท่อระบายน้ำที่ผ่านหน้าหมู่บ้าน ซึ่งตามกฎหมายภาษีที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างอาจพิจารณาให้เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนเพิ่มเติม ตามมาตรา 5 (10) และ
(มาตรา 24 วรรค 2) โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกา
24.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรร หรือใน นิคมอุตสาหกรรมจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่
ตอบ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินส่วนกลางซึ่งในกรณีนี้ คือ เจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร หรือ
นิคมอุตสาหกรรมฯ เป็นผู้เสียภาษีดังกล่าว เนื่องจากยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม
หากเจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร หรือนิคมอุตสาหกรรมฯ ยกทรัพย์สินส่วนกลาง
ให้ทางราชการหรือประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เช่น ยกถนนที่ผ่านโครงการให้เป็นทางลัดสู่ถนนใหญ่
ก็จะได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
25.รัฐบาลจะมีส่วนสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มเติมจนเต็มอัตราเพดานที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีรายได้ จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน้อยกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน
ตอบ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มเติมจนเต็มเพดานอัตราภาษี
ที่กฎหมายกำหนดแล้ว คาดว่ารายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมากกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือน
และที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ที่ท้องถิ่นนี้เคยได้รับ
อย่างไรก็ตาม หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าเดิมซึ่งเหตุไม่ได้เกิดจาก
การขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี รัฐบาลอาจสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านการให้
เงินอุดหนุนเพื่อมิให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีเดิม
26.ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีความสามารถ ในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างไรบ้าง
ตอบ ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีความสามารถ
ในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
1) มาตรการบรรเทาภาระภาษี โดยที่
- กรณีผู้ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ปีที่ 1 ให้เสียภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิมรวมกับร้อยละ 50 ของภาษีที่เพิ่มขึ้น ปีที่ 2 ให้เสียภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิมรวมกับร้อยละ 75 ของภาษีที่ต้องเสีย
- กรณีผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนหรือภาษีบำรุงท้องที่มาก่อน
ปีที่ 1ให้เสียภาษีร้อยละ 50 ของภาษีที่ต้องเสีย ปีที่ 2 ให้เสียร้อยละ 75 ของภาษีที่ต้องเสีย
2) มาตรการผ่อนชำระภาษี โดยผู้เสียภาษีอาจผ่อนชำระภาษีเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน
โดยจำนวนเงินภาษีที่จะมีสิทธิผ่อนชำระ หลักเกณฑ์และวิธีการในการผ่อนชำระให้เป็นไปตามที่
กำหนดโดยกฎกระทรวง
3) กรณีทรัพย์สินถูกทำลายเสียหายด้วยเหตุพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป ให้ผู้บริหารมีอำนาจประกาศลดหรือยกเว้นภาษีภายในเขตพื้นที่เกิดเหตุนั้นในช่วงระยะเวลาใดช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
4) กรณีที่มีเหตุทำให้ที่ดินได้รับความเสียหายหรือทำให้สิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนหรือทำลาย หรือชำรุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องซ่อมแซมในส่วนสำคัญให้ผู้บริหารยกเว้นภาษีตามสัดส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นและระยะเวลาที่ไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น
27.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันเพราะเหตุใด
ตอบ เนื่องจากมีการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นโดยเก็บจากที่อยู่อาศัยที่เจ้าของอยู่เอง ห้องชุดอยู่อาศัย
และโรงเรือนปิดว่าง ซึ่งเคยได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายปัจจุบัน นอกจากนี้ฐานภาษีได้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินที่เป็นปัจจุบันแทนการใช้ราคาปานกลางที่ดินของปี 2521- 2524
28.รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจตกต่ำ อยู่ในขณะนี้เพื่อเป็นการลงโทษประชาชนใช่หรือไม่
ตอบ รัฐบาลไม่มีความต้องการที่จะลงโทษประชาชนโดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจตกต่ำเช่นที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด โดยที่ ร่างพระราชบัญญัติ
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเรียบร้อยแล้วก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที แต่จะมี
ผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีถัดไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานจัดเก็บมีความพร้อมและความเข้าใจ
ในการจัดเก็บภาษีนี้