สมาคมฯใคร่ขอให้ท่านได้โปรดเข้ามากรอกข้อมูลที่เป็นชื่อ จริง นามสกุลจริง รายละเอียดอื่นๆของท่าน เนื่องจาก สมาคมฯจะจัดทำบัตรสมาชิกใหม่ให้กับทุกท่านโดยเป็นระบบมาตรฐานและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีแถบแม่เหล็ก และจะใช้เป็นบัตร สะสมแต้มในการเข้าร่วมรายการต่างๆ กับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมฯทั้งเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ทันสมัยถูกต้องและสามารถติดต่อข้อมูลข่าวกับสมาชิกได้สะดวกรวดเร็ว ช่วงนี้สมาคมฯเปิดรับสม้ครสมาชิกใหม่ฟรีในระบบออนไลน์ ขอให้ท่านได้เข้าไปกรอกข้อมูลที่ คลิกเข้าไปกรอกข้อมูลที่นี่

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญด้านการปกครองท้องถิ่น

ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ ๖๒ ฉบับที่ ๑๔ วันศุกร์ที่ ๑๙ ธันวาคม - วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ หน้า ๘๐ <ทีมข่าวภูมิภาค> คอลัมน์ เจาะประเด็นร้อน อปท. : ‪#‎ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ‬ ‪#‎ด้านการปกครองท้องถิ่น‬ โดย
สรณะ เทพเนาว์
‪#‎สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ‬
‪#‎นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย‬



แนวทางการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น


 
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองประเทศเป็นครั้งแรกนับแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมุ่งเน้นการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว
     
       ทรงสถาปนาสุขาภิบาลท่าฉลอมขึ้นเป็นแบบอย่างการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นครั้งแรกและเป็นแห่งแรก เป็นผลให้การปกครองส่วนท้องถิ่นท่าฉลอมมีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว
     
       หลังจากสิ้นรัชกาลแล้ว การปฏิรูปการปกครองได้หยุดชะงักลง และในระยะหลังนี้ก็พูดกันแต่เรื่องปฏิรูปการเมือง แทบไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปการปกครองเลย ทั้งๆ ที่การปกครองของประเทศในขณะนี้เหลวไหลเละเทะสิ้นดีในทุกระบบ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ประชาชนตื่นตัวเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน จึงสมควรกล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นสักครั้งหนึ่ง
     
       ก่อนอื่นต้องกล่าวว่า ระบบการปกครองของประเทศไทยมีลักษณะแบบเปรตที่หัวโต ท้องโต ขาลีบ ยาว จึงทำให้การบริหารประเทศไทยใหญ่โตอุ้ยอ้าย ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ตอบสนองการพัฒนาประเทศและความปรารถนาของปวงชน
     
       การปกครองประเทศไทยแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ
     
       ก. การบริหารราชการส่วนกลาง ที่มีกระทรวง ทบวง กรม ในกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางหลัก และได้รวบสรรพอำนาจทั้งหลายในประเทศนี้มาอยู่ที่นี่ รวบเอาทรัพยากรทั้งหมดของประเทศมาอยู่ที่นี่
     
       ข. การบริหารราชการส่วนภูมิภาค ที่ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีตัวแทนออกไปปกครองราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีองคาพยพคือจังหวัด อำเภอ และตำบล องคาพยพเหล่านี้ล้วนเป็นหูเป็นตา เป็นมือ เป็นไม้ในการรวบอำนาจทั้งหลายให้กับส่วนกลาง จึงมิได้รับใช้ประชาชนในท้องถิ่น เพราะมุ่งตอบสนองเอาใจเจ้านายในส่วนกลาง
     
       ค. การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำกันแบบไม่รู้ทิศรู้ทางและเปะปะซับซ้อน มีองคาพยพในรูปแบบองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ซึ่งยังแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลอำเภอ และเทศบาลตำบล จนทับซ้อนกันไม่รู้อะไรเป็นอะไร นอกจากนั้นยังมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกสองแห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งมีอำนาจและมีความเป็นเอกเทศมากที่สุด
     
       ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาได้เป็นแบบอย่างให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษดังกล่าว
     
       ความสับสนของประชาชนในพื้นที่ที่การปกครองทับซ้อนกันหลายรูปแบบนั้นเป็นปัญหาใหญ่หลวงของประเทศ และเป็นเหตุทำให้ประชาชนไม่สนใจหรือรังเกียจระบบราชการ
     
       ยกตัวอย่าง ในจังหวัดหนึ่งๆ จะมีการปกครองที่เลอะเทอะเละเทะทับซ้อนกันจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร ดังเช่นจังหวัดนครราชสีมา ก็มีองค์กรบริหารในรูปจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีผู้บริหารที่เรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นย่านลงไป เหล่านี้เป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาคที่รับใช้ส่วนกลางทั้งสิ้น
     
       ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลต่างๆ ในรูปแบบของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล
     
       การปกครองทั้งสองรูปแบบที่ทับซ้อนและหลายประเภทจนสับสนอลหม่านดังกล่าวคือต้นตอของปัญหาการปกครองประเทศไทยในปัจจุบันนี้
     
       ในขณะที่ต้องสูญเสียงบประมาณรายจ่ายไปในการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก แต่ประชาชนทั่วประเทศยังลำบากยากจน ขาดแคลนและล้าหลัง เพราะการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นถูกครอบงำโดยการบริหารส่วนภูมิภาคที่เป็นตัวแทนการบริหารราชการส่วนกลาง จึงทำให้ทั่วประเทศเสมือนหนึ่งเป็นเมืองขึ้นหรือเป็นขี้ข้ารับใช้ส่วนกลาง โดยมีนักการเมืองนั่งอยู่บนยอดหอคอย
     
       ดังนั้นเมื่อสถานการณ์จำเป็นต้องปฏิรูปการปกครอง ซึ่งเนื้อแท้แล้วก็มีความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูปทางการเมืองแต่ประการใด จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการปฏิรูปการปกครองดังนี้
     
       ประการแรก แนวทางการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดให้เป็นแบบเทศบาลเป็นพื้นฐาน คือยกเลิกการปกครองแบบสุขาภิบาลทั่วประเทศ ยกเลิกการปกครองแบบองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ยกฐานะสุขาภิบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศขึ้นเป็นเทศบาลตำบล ให้เทศบาลตำบลเป็นการปกครองพื้นฐานที่สุดของท้องถิ่น และส่งเสริมสนับสนุนให้เทศบาลตำบลที่มีพื้นที่ติดต่อกันควบรวมกันเป็นเทศบาลอำเภอ ให้พื้นที่อำเภอเป็นขอบเขตเทศบาลอำเภอพื้นฐาน และสำหรับเขตเมืองให้ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภท ทุกระดับ มีอำนาจหน้าที่เต็มที่และบริหารโดยผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้น
     
       องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเสนองบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นได้โดยตรง
     
       ประการที่สอง แนวการปฏิรูปการบริหารราชการส่วนกลาง ยกเลิกราชการส่วนกลางระดับอำเภอทั้งประเทศ และลดอำนาจของจังหวัดลง โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ให้โอนอำนาจไปเป็นของท้องถิ่นพิเศษระดับจังหวัดที่จัดตั้งขึ้น ให้โอนข้าราชการของอำเภอทั้งหมดไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือโอนกลับคืนส่วนกลาง และทำให้จังหวัดเป็นเพียงหน่วยประสานงานระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเท่านั้น เพื่อการนี้ ให้ลดขนาดองค์การบริหารของจังหวัดให้เหลือเท่าที่จำเป็นเพื่อการประสานงานเท่านั้น
     
       ประการที่สาม ปรับปรุงระบบรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นอกจากให้รายได้ของท้องถิ่นเป็นไปตามเดิมแล้ว ให้ปรับการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ ภาษีฝ่ายสรรพากร ภาษีฝ่ายสรรสามิต และภาษีฝ่ายศุลกากร ที่จัดเก็บได้ในท้องถิ่นใดให้เป็นรายได้ของท้องถิ่นนั้น 30% เป็นอย่างน้อย ส่วนที่เหลือส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน
     
       ประการที่สี่ บรรดาการพัฒนาในท้องถิ่นทั้งหมด ในส่วนที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับจังหวัดอื่น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ในการจัดทำแผนงานงบประมาณประจำปี รวมทั้งการจัดสรรใช้สอยทรัพยากรในท้องถิ่น ให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในท้องถิ่น และโอนบรรดาอำนาจที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นจากส่วนกลางหรือจังหวัดให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีบทบาทเพียงกำกับและควบคุมเท่านั้น
     
       ประการที่ห้า ให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารจัดการท้องถิ่นโดยทั่วไป ยกเว้นการต่างประเทศ ความมั่นคง และการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษานั้นเพิ่มอำนาจให้แก่ส่วนท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยส่วนกลางมีอำนาจในการกำหนดหลักสูตรพื้นฐานหรือระเบียบการทั่วไปเท่านั้น
     
       ด้วยห้าประการเหล่านี้ จะทำให้ประชาชนทั่วประเทศรักหวงห่วงแผ่นดิน และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้ ทั้งมีสิทธิ์ มีส่วน ในการบริหารจัดการและในการพัฒนาท้องถิ่นของตน ตอบสนองความปรารถนาของปวงชนในท้องถิ่น อันเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระดับฐานรากครั้งใหญ่ที่สุด
     
       เหล่านี้คือการจำเริญพระบรมราโชบายปฏิรูปการปกครองของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงเริ่มไว้เมื่อร้อยปีก่อนนั่นเอง.

ประเด็นคำถามคำตอบจากการสัมนาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง



1.ทำไมต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีจากที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างในรูปภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว
ตอบ เนื่องจาก ภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันมีปัญหา
ซึ่งสรุปได้ดังนี้
      (1) ปัญหาของภาษีบำรุงท้องที่
        1) ฐานราคาที่ดินไม่เป็นปัจจุบัน กล่าวคือ ใช้ราคาปานกลางของที่ดินในปี 2521-2524 ในการจัดเก็บภาษี ทำให้มูลค่าฐานภาษีต่ำเกินไป
         2) มีการสะสมที่ดินเพื่อทำกำไร การใช้ฐานราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 ส่งผลให้
มีภาระภาษีที่ต้องชำระน้อยมาก ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถถือครองที่ดินจำนวนมากเพื่อทำกำไร
         3) มีการลดหย่อนที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเอง ตั้งแต่ 50 ตารางวา ถึง 5 ไร่ ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับการลดหย่อนที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยจนไม่ต้องเสียภาษี
         4) ท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีนี้น้อยมาก เนื่องจากใช้ฐานราคาที่ดินต่ำมาก และเจ้าของ
ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ได้รับลดหย่อนพื้นที่ที่ดินจนไม่ต้องเสียภาษี
      (2) ปัญหาของภาษีโรงเรือนและที่ดิน
         1) ฐานภาษีไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีไม่มีค่าเช่าหรือหาค่าเช่าไม่ได้ เช่น เจ้าของดำเนินการเอง เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการประเมินค่ารายปี
         2) อัตราภาษีสูงเกินไป ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่าเช่าต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันทำให้มีการหลบเลี่ยงภาษี
         3)ฐานภาษีแคบ เนื่องจากยกเว้นภาษีให้แก่โรงเรือนที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยและ
โรงเรือนปิดว่าง ซึ่งทำให้มีผู้เข้าสู่ระบบภาษีประมาณร้อยละ 50 ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม
และเป็นผลทำให้ท้องถิ่นมีเงินไม่เพียงพอแก่การใช้จ่าย
        4) มีการยกเว้นบ้านอยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ยกเว้นภาษีสำหรับโรงเรือนซึ่งเจ้าของ
อยู่อาศัยเองโดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าของบ้านและที่ดินที่แตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม
ในการยกเว้นทรัพย์สินระหว่างผู้ที่มีฐานะแตกต่างกันมาก
        5) ไม่เป็นธรรมต่อผู้เช่าโรงเรือนอยู่อาศัย ผู้เช่าโรงเรือนอยู่อาศัยมักจะถูกผลักภาระภาษี
ตามสัญญาเช่าโรงเรือนอยู่อาศัยในขณะที่เจ้าของโรงเรือนบ้านอยู่อาศัยกลับได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
         6) ขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินควรใช้ฐานมูลค่าทรัพย์สินในการเรียกเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีโดยผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ซึ่งมีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ การใช้ฐานค่าเช่ารายปีขัดกับหลักการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีเฉพาะทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้เท่านั้น

2. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร
ตอบ 2.1 เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี โดยที่
        - ฐานภาษีมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดเก็บจากที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
ทุกประเภท ทั้งที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ที่ดินเกษตรกรรม โรงเรือนปิดว่าง ห้องชุด โรงเรือน
เพื่อใช้ประกอบกิจการต่างๆ เพื่อให้เจ้าของภาษีทุกรายมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตน ตามหลักการได้รับประโยชน์จากการบริการของท้องถิ่น (Benefit Principle) และหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay Principle) ซึ่งผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าต่ำ
         - แก้ไขปัญหาการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในการประเมินค่ารายปีของภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่มีค่าเช่า เนื่องจาก เจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง แต่การประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีความชัดเจนแน่นอนกว่า เพราะใช้บัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ซึ่งกำหนดโดยคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
      2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นให้ตรงกับความต้องการของประชาชน ลดการพึ่งพาจากรัฐบาล และเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด
      2.3 ลดการกักตุนที่ดินเพื่อการเก็งกำไรและผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสำหรับที่ดินที่มิได้ใช้ประโยชน์ตามควรหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า
      2.4 สร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีมีความสนใจ และมีส่วนร่วมมากขึ้นกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในส่วนของการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง การจัดทำงบประมาณ การตรวจสอบ และการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น

3. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการลงโทษคนจน ผู้มีบ้านอยู่อาศัยหรือที่ดิน เกษตรกรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจภาคเอกชนใช่หรือไม่
ตอบ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย
และเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินทำกินที่มีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดใน
พระราชกฤษฎีกา นอกจากนี้ อัตราภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจจะสูงกว่าอัตราที่จัดเก็บจากการใช้ที่ดินเพื่อ
การอยู่อาศัย และที่ดินเพื่อใช้เพื่อการเกษตรกรรม

4.ผู้เสียภาษีที่มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองจะแบกภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด ใช่หรือไม่
ตอบ ผู้เสียภาษีที่มีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเองไม่ได้เป็นผู้แบกภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด เนื่องจาก การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยึดตามหลักความสามารถในการเสียภาษีของเจ้าของ
ซึ่งเจ้าของที่ดินว่างเปล่าเพื่อการเก็งกำไรจะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าที่ดินประเภทอื่น รองลงมาคือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ และเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการกสิกรรมซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตราลดหลั่นกันไป

5.รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเนื่องจากมีรายได้จากการจัดเก็บ ภาษีประเภทอื่นไม่เพียงพอใช่หรือไม่
ตอบ รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในเขตท้องถิ่นใด เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ต่อไปโดยไม่ต้องนำส่งรัฐบาล

6.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือน และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่หรือไม่
ตอบ เมื่อมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีโรงเรือน
และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ จึงไม่เป็นการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน

7.กฎหมายภาษีที่ดินฯ ได้ให้ความหมายของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้อย่างไร
ตอบ “ที่ดิน” หมายถึง พื้นที่ดิน รวมทั้งพื้นที่ภูเขาและพื้นที่ที่มีน้ำด้วย
“สิ่งปลูกสร้าง” หมายถึง โรงเรือน อาคาร ตึก รวมทั้งคลังสินค้า และแพที่บุคคลอาจจะเข้าอยู่หรือ
ใช้สอยได้ รวมทั้งสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย

8.ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมายถึงใครบ้าง
ตอบ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้แก่
         8.1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
         8.2 ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ
โดยที่ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ ผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน เป็นต้น

ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ
ได้แก่
         1) ผู้ที่ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐที่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น
ที่ดิน สปก. และที่ราชพัสดุ เป็นต้น
         2) ผู้ที่ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น
ที่ดินในเขตป่าสงวนและมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว
เป็นต้น

9.เหตุใดจึงต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับเจ้าของทรัพย์สินที่อยู่อาศัยเองหรือโรงเรือนปิดว่างที่มิได้ประกอบกิจการใดๆ
ตอบ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโรงเรือนอยู่อาศัยเองหรือโรงเรือนปิดว่าง
มีเหตุผลดังนี้
        (1) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากฐานมูลค่าของทรัพย์สินซึ่งเป็น
การจัดเก็บจากความมั่งคั่ง (Wealthy) ของเจ้าของทรัพย์สิน โดยผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่ามาก
จะเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าน้อย ซึ่งในต่างประเทศก็ถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติสากลในการจัดเก็บภาษีประเภทนี้กับที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนปิดว่าง
        (2) การดำรงอยู่ของทรัพย์สินก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การทำถนน การทำท่อระบายน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น เจ้าของทรัพย์สินทุกคนที่ได้รับบริการสาธารณะของท้องถิ่นจึงมีหน้าที่เสียภาษีให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

10.ทรัพย์สินประเภทใดไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ตอบ ทรัพย์สินที่ไม่ได้จัดเก็บภาษี ได้แก่
         (1) ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
         (2) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มิได้หาประโยชน์
         (3) ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐหรือสาธารณะโดยมิได้หาผลประโยชน์
         (4) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนาญพิเศษ
ขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพัน
ที่ต้องยกเว้นภาษี
         (5) ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูต หรือสถานกงสุลของต่างประเทศ
         (6) ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
         (7) ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจ
หรือกิจการสาธารณะหรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวงไม่ว่าใน
ศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า ทั้งนี้เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
         (8) ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะ หรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
         (9) ทรัพย์สินของเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ เฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการหรือประชาชน
ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นมิได้ใช้หรือหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น
        (10) ทรัพย์สินตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

11.ฐานภาษีมีหลักเกณฑ์การประเมินอย่างไร
ตอบ หลักเกณฑ์การประเมินฐานภาษีมีดังต่อไปนี้
        1) กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเป็นฐานภาษี
        2) กรณีที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรวมกับราคาประเมิน
ทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้างเป็นฐานภาษี
        3) กรณีห้องชุดให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเป็นฐานภาษี
ทั้งนี้ให้หักค่าบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
         1) สิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี จนถึง 10 ปี ให้หักค่าบำรุงรักษาแต่ละปีในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ตามอายุของสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดนั้น
         2) สิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ให้หักค่าบำรุงรักษาร้อยละ 10
เมื่อคำนวณราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดทั้งหมดที่ถือครองอยู่
ในกรณีของทรัพย์สินที่ใช้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำการเกษตรหากมีมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาก็ให้ได้รับการยกเว้นภาษี

12.ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีตามกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมายรวมถึงสิ่งใด
ตอบ ฐานภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คิดจากราคาประเมินทุนทรัพย์
(เช่น ที่ดินและตัวบ้าน) รวมกับมูลค่าทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน
หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น (เช่น รั้ว และถนนภายในบ้าน) ทั้งนี้โดยไม่รวมเครื่องจักรที่ติดตั้งเป็นส่วนควบกับที่ดิน

13.มีการกำหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างไร
ตอบ คณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกำหนดอัตราภาษีไว้ 3 อัตรา ตามประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้
        (1) อัตราภาษีทั่วไปสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี
        (2) อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่อยู่อาศัยของตน โดยไม่ประกอบ
เชิงพาณิชย์ไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี
        (3) อัตราภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05 ของฐานภาษี
สำหรับ ที่ดินว่างเปล่า มิได้ทำประโยชน์ตามสมควร จะจัดเก็บในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า
อัตราภาษีทั่วไป ซึ่งใช้สำหรับเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเพื่อเป็นการผลักดัน ให้มีการทำประโยชน์ในที่ดิน และลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร

14.ทำไมต้องกำหนดอัตราภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5และอัตราภาษีเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกินร้อยละ 0.1 และประกอบเกษตรกรรมไม่เกินร้อยละ 0.05
ตอบ เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมของผู้เสียภาษี โดยคำนึงถึงลักษณะการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม จะมีผลตอบแทนจากทรัพย์สินในอัตราที่สูงกว่าที่อยู่อาศัย จึงกำหนดอัตราภาษีที่สูงกว่า

15.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถป้องกันการเก็งกำไรที่ดิน หรือการใช้ที่ดิน ที่ไม่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ตอบ ตามร่างกฎหมายได้มีการกำหนดอัตราภาษีสำหรับที่ดินว่างเปล่า ที่มิได้ทำประโยชน์ตามสมควรให้เสียภาษีในอัตราที่สูงมากกว่าที่ดินประเภทอื่น และกำหนดให้จัดเก็บเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 หากยังมิได้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น

16.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ให้อิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดอัตราภาษีเองหรือไม่
ตอบ ตามพรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตน โดยกำหนดอัตราภาษีสูงกว่าอัตราภาษีที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีกำหนดได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

17.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมายถึงเขตปกครองส่วนท้องถิ่นใดบ้าง
ตอบ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

18.เหตุใดจึงกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดแต่ไม่ให้ลดอัตราภาษีต่ำกว่าอัตราที่คณะกรรมการฯ กำหนด
ตอบ การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดแต่ไม่เกินเพดานอัตราภาษีนั้น เป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อนำเงินไปจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมจากโครงการปกติ ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถเสนอสภาท้องถิ่นให้ออกข้อบัญญัติจัดเก็บภาษีในอดีตที่สูงกว่าที่คณะกรรมการฯกำหนดได้แต่ไม่เกินเพดานอัตราที่กำหนดในกฏหมาย
ส่วนกรณีที่ไม่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติกำหนดลดอัตราภาษีจากที่คณะกรรมการกำหนดอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนด เนื่องจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะกำหนดอัตราภาษีต่ำเกินไปเพื่อมิให้กระทบฐานเสียงทางการเมืองโดยหวังพึ่งพารายได้จากภาษีที่รัฐบาลแบ่งให้หรือจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

19.คณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วยใครบ้าง และมีอำนาจหน้าที่อย่างไร
ตอบ คณะกรรมการพิจารณาอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประกอบด้วย
        (1)ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
        (2) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
        (3) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
        (4) อธิบดีกรมที่ดิน
        (5) อธิบดีกรมธนารักษ์
        (6) อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
        (7) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
        (8) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ การกระจายอำนาจให้แก่ อปท.
        (9) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
        (10) นายกเมืองพัทยา
        (11) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่ง แต่งตั้งไม่เกิน 3 คน
         (12) ผู้แทนนายกเทศมนตรีหรือนายก อบต. ในคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.
         (13) เจ้าหน้าที่ สศค. เป็นกรรมการและเลขานุการและกรรมการและผู้ช่วยเลขาฯ
โดยมีอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
        (1) กำหนดอัตราภาษีในทุกรอบระยะเวลา 4 ปี
        (2) พิจารณากำหนดประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
        (3) เสนอแนะการลดอัตราภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภท
        (4) ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย สภาพปัญหาและอุปสรรค เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมาย
และปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป

20.จะมีการกำหนดเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับกรณีของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการขาย และที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างไร
ตอบ
        20.1 กรณีทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการขาย และไม่ได้ประกอบการพาณิชย์ (ทิ้งว่างไว้) ปัจจุบัน
ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว แต่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เปิดช่องให้
ลดอัตราภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภทเพิ่มเติมโดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกาได้
(มาตรา 24 วรรค 2)
         20.2 กรณีของที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่อยู่แล้ว แต่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้เสียภาษีในอัตราภาษีทั่วไป (ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของราคาประเมิน) อย่างไรก็ตาม อาจนิยามความหมายของที่ดินว่างเปล่ามิได้ทำประโยชน์ไม่ให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อมิให้ต้องเสียเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ในทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของราคาประเมิน หากไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดิน

21.หากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว ควรยกเลิกการเก็บภาษีประเภทอื่น เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิและนิติกรรมจากการขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่
ตอบ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการจัดเก็บภาษีการถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตน
ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิและนิติกรรมจากการขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
รวมถึงภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการจัดเก็บในส่วนของการโอนเปลี่ยนมือทรัพย์สิน
อันเกิดจากทรัพย์สินมีมูลค่าสูงขึ้นจากการลงทุนบริการสาธารณะของภาครัฐ (Windfall Benefit)
ดังนั้น การจัดเก็บภาษีทั้งสองประเภทจึงไม่ซ้ำซ้อนกัน

22.ทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสถาบันการเงินจะต้องเสียภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ อย่างไร
ตอบ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินซึ่งในกรณีนี้ คือ สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบัน NPA
ก็ถูกจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและที่ดินอยู่แล้ว แต่ตามกฎหมายภาษีที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างอาจพิจารณายกเว้นประเภททรัพย์สินเพิ่มเติม (มาตรา 5 (10)) หรือลดหย่อนประเภท
ทรัพย์สินเพิ่มเติม (มาตรา 24 วรรค 2) โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกาได้

23.ควรมีการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับผู้มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อยู่ในหมู่บ้านซึ่งเสียค่าส่วนกลางบำรุงหมู่บ้านอยู่แล้วหรือไม่
ตอบ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินซึ่งในกรณีนี้ คือ เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เนื่องจากทรัพย์สินในหมู่บ้านยังได้รับบริการสาธารณะจากท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ เช่น ถนนสาธารณะ
ไฟฟ้าส่องสว่าง ทางเท้า ท่อระบายน้ำที่ผ่านหน้าหมู่บ้าน ซึ่งตามกฎหมายภาษีที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้างอาจพิจารณาให้เป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนเพิ่มเติม ตามมาตรา 5 (10) และ
(มาตรา 24 วรรค 2) โดยกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

24.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรร หรือใน นิคมอุตสาหกรรมจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่
ตอบ ตามหลักการของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ผู้เป็นเจ้าของ
ทรัพย์สินส่วนกลางซึ่งในกรณีนี้ คือ เจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร หรือ
นิคมอุตสาหกรรมฯ เป็นผู้เสียภาษีดังกล่าว เนื่องจากยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม
หากเจ้าของโครงการ หรือนิติบุคคลบ้านจัดสรร หรือนิคมอุตสาหกรรมฯ ยกทรัพย์สินส่วนกลาง
ให้ทางราชการหรือประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เช่น ยกถนนที่ผ่านโครงการให้เป็นทางลัดสู่ถนนใหญ่
ก็จะได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

25.รัฐบาลจะมีส่วนสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างไร หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มเติมจนเต็มอัตราเพดานที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีรายได้ จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างน้อยกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน
ตอบ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีเพิ่มเติมจนเต็มเพดานอัตราภาษี
ที่กฎหมายกำหนดแล้ว คาดว่ารายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมากกว่ารายได้จากภาษีโรงเรือน
และที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ที่ท้องถิ่นนี้เคยได้รับ
อย่างไรก็ตาม หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าเดิมซึ่งเหตุไม่ได้เกิดจาก
การขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี รัฐบาลอาจสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านการให้
เงินอุดหนุนเพื่อมิให้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีเดิม

26.ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีความสามารถ ในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างไรบ้าง
ตอบ ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีความสามารถ
ในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
         1) มาตรการบรรเทาภาระภาษี โดยที่
         - กรณีผู้ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ปีที่ 1 ให้เสียภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิมรวมกับร้อยละ 50 ของภาษีที่เพิ่มขึ้น ปีที่ 2 ให้เสียภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิมรวมกับร้อยละ 75 ของภาษีที่ต้องเสีย
- กรณีผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนหรือภาษีบำรุงท้องที่มาก่อน
ปีที่ 1ให้เสียภาษีร้อยละ 50 ของภาษีที่ต้องเสีย ปีที่ 2 ให้เสียร้อยละ 75 ของภาษีที่ต้องเสีย
        2) มาตรการผ่อนชำระภาษี โดยผู้เสียภาษีอาจผ่อนชำระภาษีเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กัน
โดยจำนวนเงินภาษีที่จะมีสิทธิผ่อนชำระ หลักเกณฑ์และวิธีการในการผ่อนชำระให้เป็นไปตามที่
กำหนดโดยกฎกระทรวง
        3) กรณีทรัพย์สินถูกทำลายเสียหายด้วยเหตุพ้นวิสัยที่จะป้องกันได้โดยทั่วไป ให้ผู้บริหารมีอำนาจประกาศลดหรือยกเว้นภาษีภายในเขตพื้นที่เกิดเหตุนั้นในช่วงระยะเวลาใดช่วงระยะเวลาหนึ่งได้ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
        4) กรณีที่มีเหตุทำให้ที่ดินได้รับความเสียหายหรือทำให้สิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนหรือทำลาย หรือชำรุดเสียหายจนเป็นเหตุให้ต้องซ่อมแซมในส่วนสำคัญให้ผู้บริหารยกเว้นภาษีตามสัดส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นและระยะเวลาที่ไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

27.การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันเพราะเหตุใด
ตอบ เนื่องจากมีการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นโดยเก็บจากที่อยู่อาศัยที่เจ้าของอยู่เอง ห้องชุดอยู่อาศัย
และโรงเรือนปิดว่าง ซึ่งเคยได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายปัจจุบัน นอกจากนี้ฐานภาษีได้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินที่เป็นปัจจุบันแทนการใช้ราคาปานกลางที่ดินของปี 2521- 2524

28.รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจตกต่ำ อยู่ในขณะนี้เพื่อเป็นการลงโทษประชาชนใช่หรือไม่
ตอบ รัฐบาลไม่มีความต้องการที่จะลงโทษประชาชนโดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจตกต่ำเช่นที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด โดยที่ ร่างพระราชบัญญัติ
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเรียบร้อยแล้วก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที แต่จะมี
ผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีถัดไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานจัดเก็บมีความพร้อมและความเข้าใจ
ในการจัดเก็บภาษีนี้

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประชุม คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ ๖

บันทึกการประชุม คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ ๖ (ภาค ๒ ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด ๗ การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น) โดย ศ.ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานอนุกรรมาธิการฯ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๗ และ ครั้งที่ ๕/๒๕๕๗













รัฐบาลทุ่ม 2.29 หมื่นล้านบาท ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ-พนักงานราชการ 1.98 ล้านคน 4-10% มีผลย้อนหลัง 1ธ.ค. 2557

รัฐบาลทุ่ม 2.29 หมื่นล้านบาท ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ-พนักงานราชการ 1.98 ล้านคน 4-10% มีผลย้อนหลัง 1ธ.ค. 2557




พร้อมอนุมัติแพ็คเกจด้านการคลัง จัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ ลดภาษีเงินได้เอสเอ็มอี ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบเหลือ 0% และพันธบัตรแสนล้าน จำหน่ายประชาชนทั่วไปต้นปีหน้า
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (9 ธ.ค.) อนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ 1.98 ล้านคน โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยไปแล้ว
น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระบบจำนวน 1.98 ล้านคน โดยใช้งบประมาณปี 2558 ทั้งสิ้น 22,900 ล้านบาท โดยจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะมีผลย้อนหลังให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในครั้งนี้ เป็นการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบครอบคลุมข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การปรับบัญชีเงินเดือนและการแก้ไขกฎหมาย ขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงของทุกระดับหรือทุกอันดับ ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทเพิ่มขึ้น 3 ขั้น สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบขั้น หรือ ประมาณ 10%
สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง รวมทั้งปรับปรุงบัญชีเงินเดือนข้าราชการให้สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่ง โดยในส่วนของข้าราชการพลเรือนสามัญ ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการได้รับเงินเดือนโดยแก้ไขชื่อระดับในบัญชีเงินเดือนเพื่อให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนในระดับสูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับตำแหน่งที่ดำรงได้ รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อให้ ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเยียวยาให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนและหรือเงินประจำตำแหน่งได้
ขณะที่ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ (ป.3 และ น.1 - น.3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ ข้าราชการตำรวจปรับปรุงจำนวนขั้นเงินเดือนของบางระดับ (ป3. และ ส.1 -ส3) ให้สอดคล้องกับระดับชั้นยศ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับเงินเดือนขั้นสูงของอันดับครูผู้ช่วยมากกว่า 10% เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของคุณวุฒิปริญญาเอก ทั้งนี้ โดยการแก้ไขบัญชีเงินเดือนแนบท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557
ระบบเงินเดือนแบบขั้นเพิ่ม4%
2. การปรับเงินเดือนข้าราชการ ให้ข้าราชการได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่ม 1 ขั้น สำหรับระบบเงินเดือนแบบขั้น หรือ 4% ของอัตราเงินเดือน สำหรับระบบเงินเดือนแบบช่วง ณ วันที่บัญชีเงินเดือนข้าราชการมีผลใช้บังคับ ในกรณีที่การปรับอัตราเงินเดือนดังกล่าวทำให้อัตราใดมีเศษไม่ถึง 10 บาทให้ปัดเป็น 10 บาท
ทั้งนี้ ปรับเงินเดือนให้ข้าราชการ 6 ประเภท ดังนี้ 1.ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน 2.ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ น.3 ลงมา 3.ข้าราชการตำรวจ ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่ระดับ ส.3 ลงมา 4.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งรับเงินเดือนตั้งแต่อันดับ คศ.2 ลงมา.
5.ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการซึ่งรับเงินเดือนตำแหน่งอาจารย์ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน และ 6.ข้าราชการรัฐสภาสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการซึ่งรับเงินเดือน ระดับปฏิบัติการและระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปซึ่งรับเงินเดือนระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน
เงินเดือนตันนำค่าตอบแทนพิเศษมารวมได้
3.การได้รับเงินเดือนกรณีข้าราชการได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง หรือเงินเดือนตัน และได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง ปี 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นำค่าตอบแทนพิเศษตามผลการประเมินในรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2557 ถึง วันที่ 30 ก.ย. 2557 มารวมเป็นเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557
ทั้งนี้การปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จะครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ รวมประมาณ 1.98 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำนักงบประมาณได้จัดเตรียมงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแล้ว ในวงเงิน 22,900 ล้านบาท
เพิ่มค่าตอบแทนพนักงานราชการ4%
นอกจากนี้ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบให้ปรับค่าตอบแทนพนักงานราชการ โดยให้พนักงานราชการกลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ ได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม 4% โดยให้มีผลใช้บังคับ 1 ธ.ค.2557 โดยเทียบเคียงกับข้าราชการประเภทวิชาการระดับตำแหน่งไม่เกินระดับชำนาญการ ประมาณการพนักงานราชการที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม จำนวน 126,200 คน และปรับเพดานบัญชีค่าตอบแทนขั้นสูง กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ อีก 4% เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับค่าตอบแทนของพนักงานราชการ เช่นเดียวกับการปรับบัญชีค่าตอบแทนของพนักงานราชการทุกครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับวันเดียวกับการปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ
ไฟเขียว4มาตรการคลัง
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าครม.เห็นชอบมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและช่วยเหลือประชาชนจำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการจัดตั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ เพื่อเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยหรือขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพซึ่งมักมีปัญหาในการต้องไปกู้ยืมสินเชื่อนอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง 10 - 20% ต่อเดือน แต่มาตรการนาโนไฟแนนซ์จะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อเดือนหรือไม่เกิน 36% ต่อปี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกประกาศและหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์และเปิดให้ขึ้นทะเบียนภายในเดือน ธ.ค.ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดกว้างให้ผู้ที่จะปล่อยกู้ทั้งนิติบุคคลทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ได้เป็นสถาบันการเงินซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้าน คาดว่าจะสามารถเริ่มปล่อยกู้ได้ภายในเดือน ก.พ.2558
คาดเอสเอ็มอีได้ประโยชน์2.8หมื่นราย
2.มาตรการปรับลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยให้ปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรระหว่าง 1 - 3 ล้านบาทต่อปีให้เสียภาษีนิติบุคคลลดลงจากเดิม 20% เหลือ 15% ส่วนเอสเอ็มอีที่ได้กำไรจากการดำเนินกิจการเกินปีละ 3 ล้านบาทให้เสียภาษีในอัตรา 20% เหมือนเดิม
คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ 2.8 หมื่นราย โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,900 ล้านบาท แต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาพรวมและส่งผลให้สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นในอนาคตและคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่มอีก 700 ล้านบาท
ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบกว่าพันรายการ
3.มาตรการการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอใน 2 ส่วนโดยในส่วนแรกเสนอให้มีการยกเว้นอากรขาเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตที่ไม่มีผลิตในประเทศ เครื่องจักร เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต จำนวน 1,274 รายการ เช่นก๊าซธรรมชาติ สังกะสี เนื้อสัตว์ที่ทำเป็นเพลเลต ไม้สน เครื่องจักรกังหันใบพัด ฯลฯ จากปัจจุบันที่มีการเก็บภาษีขาเข้าสินค้าในกลุ่มนี้อยู่ในอัตรา 1- 10%
นอกจากนี้ การปรับลดอัตราอากรขาเข้าสินค้าอีก 258 รายการที่เคยมีการเก็บอากรขาเข้าอยู่ที่ 20% และ 30% เหลือ 10% เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าในกลุ่มเครื่องมือ เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนผลิตและเป็นปัจจัยการผลิต
ทั้งนี้กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรใน 2 ส่วนนี้จะส่งผลกระทบทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 6,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังรายงาน ครม.ว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะปรับตัวดีขึ้นเพิ่มรายได้และภาษีที่รัฐจะจัดเก็บได้ในอนาคต
ออกพันธบัตรแสนล้านขายต้นปีหน้า
4.ครม.อนุมัติให้มีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) วงเงิน 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.พันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2558 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุไถ่ถอนพันธบัตร 10 ปีและ 2.พันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าววงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุไถ่ถอนพันธบัตร 5 ปี โดยพันธบัตรทั้ง 2 ประเภทจะเริ่มเปิดขายในวันที่ 12 - 16 ม.ค.2558 โดยจำกัดวงเงินในการซื้อไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย โดยหากยังจำหน่ายไม่หมดในระยะเวลาดังกล่าวจะเปิดขายโดยไม่จำกัดวงเงินในการซื้อ
“การออกพันธบัตรเป็นมาตรการที่เราต้องการให้ประชาชนออมเงินและดึงเงินจากคนรวยมาใช้หนี้ ซึ่งสาเหตุที่ออกมา 1 แสนล้านบาทเนื่องจากดูขนาดของตลาดแล้วสามารถรับได้ ส่วนจะมีการออกพันธบัตรมาใช้หนี้จำนำข้าวเพิ่มเติมหรือไม่ต้องดูความเหมาะสมและสถานการณ์ในปีต่อไปว่าขายข้าวหรือไม่ ซึ่งการออมเงินด้วยพันธบัตรรัฐบาลผลตอบแทนก็น่าจะใกล้เคียงกับ 4% ส่วนมาตรการอื่นๆ อีก 2 มาตรการที่จะออกมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีขอไปดูรายละเอียดก่อน และคาดว่าจะเสนอให้กับครม.พิจารณาครั้งหน้าโดยมาตรการทั้งหมดเป็นมาตรการในระยะสั้นและระยะยาวที่กระทรวงการคลังมีแผนอยู่แล้วไม่ใช้เป็นของขวัญปีใหม่แต่อย่างใด” นายสมหมายกล่าว

ads.txt

google.com, pub-4865607100783107, DIRECT, f08c47fec0942fa0